
เราเรียนดนตรีกันทำไม และ ผู้ใหญ่หัดเล่นไวโอลินสายไปหรือเปล่า
ผู้ใหญ่กับการเรียนดนตรีนั้น ไม่ว่าจะเริ่มเรียนเมื่อใดก็ไม่เรียกว่าสายเกินไป ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน เคยคิดอยากจะหัดเล่นดนตรีมาบ้าง แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไรดี ไม่ว่าเราจะเรียนดนตรีเพื่อช่วยในการผ่อนคลายความเครียด สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือจะเป็นการใช้เวลาว่างอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ตาม หากเรามีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งอย่างใดได้นั้นจัดว่า “เป็นรางวัลชีวิต” สำหรับคนทุกวัยด้วย
เมื่อทดลองเริ่มเรียนแล้วอย่าท้อเร็ว มีวินัยสักหน่อย และเติมความพยายามเพิ่มขึ้นอีกสักนิด ให้เวลาตัวเองสักหกเดือนถึงเก้าเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องดนตรีที่เลือกเรียนนั้นเหมาะกับตัวเองหรือไม่ เพราะในที่สุดเราจะพบว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นสูงค่ากว่าอุปสรรคมาก
เหตุผลดี ๆ ที่เด็กควรได้รับโอกาสฝึกทักษะทางดนตรี
เสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง – การที่เด็กเรียนรู้ทฤษฎีดนตรีและเริ่มเล่นเพลงง่าย ๆ ให้ถูกจังหวะได้นั้นทำให้แม้เด็กก็ยังรู้สึกอิ่มเอมใจในความสำเร็จที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือความมั่นใจในตัวเองที่เพิ่มขึ้น
ฝึกทักษะการทำงานของร่างกายและประสาทสัมผัส – การฝึก มือ ตา หู ท่วงท่าของร่างกาย และผัสสะอื่น ๆ ให้ทำงานพร้อมกันอย่างมีสมดุลเนื่องมาจากการเล่นเครื่องดนตรี เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะถูกถ่ายทอดไปในเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของเด็กในภายหน้าเสริมความมีวินัยให้ตัวเอง – ความสำเร็จในการเล่นเพลงอะไรก็ตามสักเพลงหนึ่งนั้นต้องมีวินัยพอสมควร จึงจะสามารถทำให้บทเพลงนั้นมีความไพเราะได้ ฉะนั้น การวางแผนการซ้อม การจัดเวลาซ้อมดนตรี ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ดีขึ้น จะทำให้เด็กซึมซับการสร้างวินัยในตัวเองในที่สุดรู้จักที่จะเลือกเสพย์ศิลป์ได้เหมาะสม – เด็กจะได้เริ่มซึมซาบกับความงามที่มีอยู่ในเสียงเพลงแต่ละท่วงทำนอง
ฝึกให้ซึมซาบกับความ ไพเราะ สงบเย็น เริงใจ ซึ่งจะหาได้จากบทเพลงที่มี่คุณภาพที่มีหลากหลาย ในที่สุดสิ่งนี้จะเป็นตัวเชื่อมเด็กไปยังงานศิลป์แขนงอื่น ๆ ในโอกาสต่อไปข้างหน้า
เด็กที่ได้รับการฝึกทักษะทางดนตรีมาแล้วมักมีผลการเรียนที่ดีกว่า ดังเช่น ตัวอย่างจากผลงานวิจัยชิ้นนี้ผลการวิจัยที่ทำต่อเนื่องมาสิบปีแสดงให้เห็นว่าดนตรีช่วยพัฒนาการเรียนของนักศึกษา
Ref: Dr. James Catterall, UCLA, 1997. Dr. James Catterall เป็นหัวหน้ากลุ่มนักวิเคราะห์ ของ U.S. Department of Education Database เรียกการวิจัยนี้ว่า NELLs88 ซึ่งฐานข้อมูลของนักศึกษาที่มีอยู่กว่า 25,000 รายชื่อถูกนำมาวิเคราะห์เป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปีพบว่า นักศึกษาไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีสถานภาพทางสังคมต่างกันสักแค่ไหน แต่หากมีความสามารถทางดนตรีมักจะมีผลการทำคะแนนในการสอบทั่วไปได้สูงกว่านักศึกษาที่ไม่มีทักษะทางดนตรีมาก่อนเลย
การเริ่มเรียนไวโอลินควรเตรียมงบประมาณไว้เท่าไหร่
ค่าไวโอลินจีนเกรดนักเรียนขนาดฟูลไซส์ หรือเรียกว่าขนาด 4/4 (สำหรับอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป) จะมาพร้อมคันชัก ที่พอใช้ได้ (เซ็ทอัพมาดีแล้ว) 5,000 – 8,000 บาท แล้วแต่คุณภาพแล้วแต่ร้าน ส่วนถ้าหากต้องการให้มีคุณภาพดีขึ้น เสียงดีขึ้น เล่นได้ดีขึ้นอาจต้องเตรียมงบประมาณไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ส่วนนักเรียนที่อายุต่ำกว่าสิบสองปีนั้น การหาไวโอลินตั้งแต่ขนาด 3/4 ลงไปที่เป็นเกรดดี ๆ หน่อยอาจหายากเพราะราคาจะเท่ากับขนาด 4/4 ร้านส่วนใหญ่จึงไม่ได้นำมาขายเพราะขายยาก และผู้ปกครองมักคิดว่าไม่ต้องใช้ดีมากก็ได้ยังเด็กอยู่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง
นอกนั้นก็มีค่าตัวลดเสียงและไฟน์ จูนเนอร์เมื่อเรียนไปสักระยะหนึ่งก็จำเป็นต้องซื้อไว้ตั้งเสียงอีก รวมประมาณ 800 บาท ค่าเรียนมาตรฐาน ราคาชั่วโมงละ 600 – 1,200 บาท (การเก็บค่าเรียนมีทั้งเก็บรายเดือน รายสองเดือนและรายสามเดือน แล้วแต่ครู และนโยบายของร้าน)
ฉะนั้นคร่าว ๆ คำนวณค่าใช้จ่ายแบบกลางก็น่าจะต้องเตรียมงบประมาณเริ่มแรกไว้ประมาณ 13,600 บาท ครั้งต่อ ๆ ไปก็จะเสียเฉพาะค่าเรียน
นักเรียนไวโอลินบางคนทำไมถึงเรียนแล้วพัฒนาช้า คำตอบส่วนใหญ่คงเป็นเรื่องของ
1. จำเสียงตัวโน๊ตไม่ได้เพราะไม่มีไฟน์ จูนเนอร์เป็นของตัวเอง เพราะไวโอลินเมื่อตั้งเสียงแล้ว ลูกบิดจะค่อยคลายออกไปเรื่อย ๆ ทุกวัน ต้องตั้งเสียงก่อนแทบทุกครั้งที่จะซ้อม กว่าจะถึงชั่วโมงเรียนหน้าเพื่อขอให้ครูตั้งเสียงอีกครั้งก็อีกเป็นอาทิตย์เสียงก็ลดไปทุกวัน เลยพาลจำเสียงที่ถูกต้องไม่ได้สักทีแล้วซ้อมทีไรเสียงบนสายก็ต่างกันทุกครั้ง
2. อุปกรณ์ที่ใช้ ทั้งไวโอลิน และคันชักไม่ได้มาตรฐาน ตั้งเสียงไม่อยู่เพราะลูกบิดของสายไม่ดี สัดส่วนของคอไวโอลินไม่ดี เล่นไปได้พักเดียวเกิดอาการปวดเมื่อยซ้อมได้สักครึ่งชั่วโมงก็ทนไม่ไหวแล้วต้องเลิก
3. จำโน๊ตพื้นฐานบนบรรทัดห้าเส้นไม่ได้สักทีทั้งที่ไม่ยาก
4. สภาพร่างกาย และประสาทสัมผัสไม่อำนวย เช่น ขาดความยืดหยุ่นของร่างกาย แก้ไขอาการเกร็งของไหล่ มือซ้ายและมือขวาไม่ได้ หรือเพราะอายุมากเกินไปมีโรคประจำตัวบางอย่าง
5. อ่อนซ้อมอันเกิดจากสาเหตุ เช่น ขี้เกียจ แบ่งเวลาไม่ถูก ไม่มีตัวลดเสียงซ้อมทีไรทำให้เกิดเสียงระคายหู โดนเพื่อนบ้านต่อว่าบ่อย ๆ หนักเข้าก็.......เลิก
6. เรียนกับครูที่มีทักษะในการสอนน้อยมองข้ามปัญหา หรือแก้ปัญหาให้กับนักเรียนแต่ละคนไม่ตรงจุด หรือสอนในสิ่งที่นักเรียนไม่ต้องการ เช่น ครูทราบแต่ต้นแล้วว่านักเรียนต้องการเล่นเพลงสากล หรือ เพลงป๊อปได้ แต่เวลาสอนกลับใช้ตำราเช่น ซูซูกิ มาสอนอย่างเดียวโดยไม่มีเพลงนอกหนังสือซูซูกิมาสอนเลย อาจเป็นเพราะครูไม่ถนัดสอน ขี้เกียจทำการบ้าน หรือไม่ครูก็มีแต่โน๊ตคลาสสิคและไม่ต้องการขวนขวายเพลงใหม่ ๆ มาให้นักเรียนด้วย ผลที่สุดนักเรียนก็จำต้องเรียนเพลงที่ไม่ชอบสุดท้ายมีสิทธิ์ธาตุไฟแตกต้องเลิกเพราะเบื่อที่ครูเกาไม่ถูกที่คัน
นักเรียนยุคนี้มักไม่ต้องการหัดกับเพลงคลาสสิค และยังต้องการกำลังใจให้กับตัวเองแบบรวดเร็ว ต้องเห็นผลเร็ว ได้สิ่งที่ต้องการเร็ว ส่วนใหญ่มาเรียนเพราะต้องการเล่นเพลงสากลหรือเพลงป๊อปได้ บางคนพอเรียนแบบเพลงสากลที่ใช้เวลาฝึกได้ไม่ยากและไม่นานสักพักแล้วจึงจะมีศรัทธามากขึ้นเพราะเห็นแล้วว่าตัวเองมีความสามารถที่จะไปไหว แล้วค่อยคิดเรียนแบบที่ยากขึ้นคือแบบคลาสสิคเป็นลำดับต่อไป
ความกังวลของผู้ปกครองเมื่อตัดสินใจส่งเด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น มาเรียนไวโอลินไปพักหนึ่งแล้วเช่น เรียนไปแล้วลูกไม่ค่อยยอมซ้อมกลัวเสียทั้งเงินทั้งเวลา
ทำอย่างไรดีลูกมาเรียนไวโอลินผ่านมาหนึ่งคอร์สแล้วยังไม่ยอมซ้อม หรือ ลูกบอกว่าชอบมาเรียนไวโอลินแต่กลับบ้านไม่เห็นยอมซ้อมเลยสักที เหลวหรือเปล่า เสียเงินและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์หรือเปล่า คำตอบก็พอหาได้ เช่น ในกรณีของเด็กเล็กก็ต้องยอมรับความจริงเถอะว่าไม่มีเด็กเล็ก ๆ ทั่วไปคนไหนยอมซ้อมหรอก เพราะส่วนใหญ่อายุประมาณสี่ขวบไปจนถึงเจ็ดขวบเขายอมมาเรียนโดยดีก็ดีมากแล้วการมาเรียนแบบสม่ำเสมอ สะสมชั่วโมงบินไปสักพักก็มีประโยชน์มากแล้ว เมื่ออยู่กับครูเด็กไม่ค่อยซน ไม่ค่อยเบี้ยว เขามาแล้วรู้สึกว่าสนุกก็โชคดีเข้าไปใหญ่ ไม่ควรห่วงกังวลมากเพราะยังไม่ถึงเวลา ต่อเมื่อเรียนไปถึงระดับหนึ่ง มีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ เขาก็จะเริ่มซ้อมเอง บทเรียนมันจะค่อย ๆ ยากขึ้นเรื่อย ๆ ตามชั่วโมงเรียน หากไม่ซ้อมก็จะทำไม่ได้ในเวลาเรียนและจะหาความสนุกไม่ได้ ดังนั้นเด็กที่ชอบไวโอลินจริง ๆ ก็จะเริ่มซ้อมเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย แต่เด็กโตที่ไม่ค่อยอยากมาเรียนด้วยตัวเขาเอง หรือโดนบังคับให้เรียน รวมถึงเด็กที่เบื่อการสอนของครูเพราะครูเองบุคลิกภาพอาจไม่ดีแถมทำตัวน่าเบื่อ ปรับตัวเข้ากับเด็กไม่ได้ สอนไม่สนุก เด็กเล็กหรือเด็กโตก็มักจะไม่ค่อยอยากจะซ้อม ไม่อยากจะมาเรียนด้วยซ้ำ ในกรณีเด็กโตสักแปดขวบขึ้นไปผู้ปกครองต้องหาวิธีคุยกับเด็กจะได้ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริงเพราะหากเขาไม่ชอบไวโอลินจริง ๆ ก็ควรพิจารณาหยุดเรียนไปเสียเพราะเด็กจะได้ไม่ฝังใจเกลียดการเล่นดนตรีไปเลย ค่อยมองหากิจกรรมอื่น ๆ ที่เขาชอบจริง ๆ ให้เขาดีกว่า ส่วนถ้าเขาไม่ชอบครู หรือบทเรียนที่สอน หากครูปรับตัวไม่ได้ก็ควรหาที่เรียนใหม่หรือเปลี่ยนครูให้เด็กจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ลูกอ่านโน้ตยังไม่เป็นสักทีหรือทำไมครูยังไม่สอนอ่านโน๊ตสักที
ครูแต่ละคนมีสไตล์การสอนเด็ก ๆ ต่างกันไป บางคนให้เลียนเสียงให้ได้เสียก่อนและค่อยเริ่มอ่านโน้ต (เหมือนกับเด็กเล็ก ๆ จะหัดพูดได้ก่อนหัดอ่านเขียน) ครูบางคนก็จะสอนประกอบกันไปแบบค่อย ๆ ไป ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึงแปดขวบหรือเด็กบางคนที่มีพัฒนาการช้ามาแต่เดิมนั้นควรคุยกับครูเพราะครูจะบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร บางครั้งครูอยากจะไปเร็วก็ไม่ได้เพราะเด็กเล็กบางคนรับได้ไม่เร็วตามความคาดหวังของพ่อแม่ เร่งไปก็จะทำให้เด็กเครียดแทนที่จะสนุกกับการเรียน ส่วนเด็กโตจะผิดกันหน่อยคือถ้าชอบไวโอลินเขาจะพร้อมเรียนรู้ไปตามบทเรียนได้ดีขึ้น ส่วนจะอ่านโน้ตคล่องไม่คล่องก็จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเขาเอง รวมถึงการจัดเวลาซ้อมที่เหมาะของเขาด้วย ในที่สุดอ่านเป็นกันทุกคนนั่นแหละเพราะถ้าอ่านไม่เป็นมันไปต่อไม่ได้ก็ต้องเลิกไปเองในที่สุด
ในส่วนนี้ผู้ปกครองต้องคอยช่วยกระตุ้นด้วยแต่การกระตุ้นควรหลีกเลี่ยงวิธีกดดัน คำชมและรางวัลอันเหมาะสมก็ช่วยได้ดีในบางกรณี ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่เป็นความบกพร่องในหน้าที่ของครูบางคนอย่างแท้จริง คือ สอนไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้มีการกระตุ้นหรือสังเกตุเลยว่าเด็กคนนี้ถึงเวลาเหมาะสมที่จะต้องสอนให้อ่านโน้ต ฯลฯ อย่างจริงจังได้แล้วแต่ก็ไม่ทำ อย่างไรก็ตามเรื่องแบบนี้มักไม่เกิดที่ใดนักหรอกเพราะครูแต่ละคนเขาก็มีจรรยาบรรณในอาชีพเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าพบก็ถึงเวลาเปลี่ยนครูได้แล้ว
รู้สึกว่าลูกเรียนไปหน่อยแล้วทำไมยังสีเพลงไม่ได้สักที ครูดึงเวลาเพื่อให้การเรียนช้าหรือเปล่า
(เป็นแผนที่จะได้ค่าสอนนานขึ้นอีก)
อันนี้พูดยากเพราะมีหลายสาเหตุด้วยกันยกตัวอย่างได้หลายอย่างเช่น
1. บางคราวพ่อแม่ก็ใจร้อนลูกเรียนไปแค่แปดครั้งก็หวังมากและหวังเร็วเกินไปแล้ว อะไรนิดอะไรหน่อยก็บอกเด็กโชว์หน่อยสิลูก ยังเร็วไปยังทำไม่ได้หรอกทำให้เขารู้สึกถูกกดดันเปล่า ๆ
2. อีกตัวอย่างก็เช่น ตำราบางแบบที่บางแห่งใช้สอนบทแรกกับบทสุดท้ายง่ายเกือบเท่ากันหมด ประกอบกับนโยบายบางแห่งที่ผูกชั่วโมงเรียน จำนวนบทเรียน จำนวนเงินค่าเรียน เข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เด็กที่พัฒนาการดีจะไปเร็วก็ไปไม่ได้ ส่วนที่พัฒนาการไม่ค่อยดี (แท้จริงยังไม่พร้อมจะไปต่อ เพราะถ้าต่อก็ตกม้าตายเปล่า) ก็ต้องแกล้งเข็นให้ไปให้ได้ ต้องทำไปแบบปิดตาข้างเดียวจะได้เป็นไปตามนโยบายของสถาบันหรือเพียงเพราะเพื่อให้พ่อแม่สบายใจก็อาจพบได้
3. นอกนั้นก็มีเรื่องพื้น ๆ เช่น บางที่เราก็จะพบว่านักเรียนที่เป็นเด็กโต หรือวัยรุ่นไม่ค่อยซ้อม หรืออ่อนซ้อม (แต่ดันอย่างเป็นเร็ว ๆ) ครูบางคนเขาก็จะมีปัญหาว่าไปต่อก็ไปไม่ได้ ต้องวนเวียนอยู่แต่ที่เดิม ในขณะเดียวกันพ่อแม่บางคนถามลูกว่าเรียนไปถึงไหนแล้วก็พบว่าย่ำอยู่กับที่ คำตอบที่ดีที่สุดคือควรคุยกับครูดูก่อนด้วยจะได้คำตอบที่ถูกต้อง
4. ครูแย่จริง ครูบางคนเล่นเก่งจริง แต่หลอกนักเรียนคุย ชวนนักเรียนคุยเสียมาก หรือชวนเด็กเล็กเล่นมากไป เพราะสอนมาหลายชั่วโมงแล้ว เหนื่อย พอเด็กเล็กเจอแบบนี้ สำหรับเด็กที่ไม่อยากมาแต่แรกจะบอกผู้ปกครองว่า สนุก ชอบ (เพราะไม่ได้เรียนนี่ สมอ้างกับครู) บางทีครูก็บอกผู้ปกครองว่าเด็กไม่ค่อยยอมเรียน เล่นมาก (ก็เพราะครูเองไม่ค่อยจะพยามยามดึงเด็กเข้าหาบทเรียนไง)
ไวโอลินจีน…ของดีมีบ้างหรือเปล่า จะเลือกซื้อไวโอลินจีนอย่างไรดี

เมื่อเลือกซื้อไวโอลินใหม่จากจีนสิ่งที่ควรจะต้องเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจคือ
ราคาก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพไม่มากก็น้อยอาจต้องเตรียมงบไว้สัก +/- 5,000 บาท สำหรับขนาด 4/4 เกรดต้น ๆ ที่ขายพร้อมกล่องและมีคันชักแถมมาให้ด้วยแต่มักเป็นแบบไม่มีคุณภาพ (ควรซื้อคันชักใหม่จะช่วยให้การเรียนง่ายขึ้น เสียงฟังแล้วพอใจแต่หากให้ถึงกับพอใจเต็มร้อยและการตอบสนองของอุปกรณ์ดีก็ต้องเตรียมงบประมาณมากขึ้นไปอีกทั้งนี้เป็นเพราะคุณภาพของเกรดต่ำเกรดกลางและเกรดดีมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
คุณภาพการตัดหย่อง และซาวด์โพสท์ นักเรียนใหม่จะดูจุดนี้ได้ยากสักหน่อยแต่ถ้าทำมาไม่ดีพอใช้อาจถูกครูขอความร่วมมือให้ไปทำใหม่โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหย่องเพราะอุปกรณ์ไม่พร้อมก็สอนยาก ซ้อมยากเสียงไม่ดีทำให้ต้องเสียค่าชั่วโมงเรียนและเวลาเรียนไปแบบไม่คุ้มค่า
สัดส่วนต่าง ๆ ต้องถูกต้อง จะทำให้เล่นง่ายขึ้นร้านที่มีความซื่อตรงจะแนะนำให้ได้แบบตรงไปตรงมาถ้าไม่ไว้ใจร้านก็หาคน “ที่เป็น” ไปช่วยเลือกให้ เพราะปัญหาอันดับหนึ่งที่พบบ่อยและยากที่จะทำการแก้ไขของไวโอลินจีนคือมุมของคอไวโอลินยกไม่ได้ระดับ (wrong neck-set) แม้ว่าผู้ผลิตไวโอลินในประเทศจีนจะพัฒนาไปมากแล้วก็ตามแต่ก็ยังคงพบปัญหานี้บ่อย
โดยเฉพาะกับไวโอลินราคาถูกของจีนเมื่อมุมของคอไวโอลินไม่ได้ระดับก็ทำให้ความสูงของปลายฟิงเกอร์บอร์ดจากไม้แผ่นหน้าต่ำกว่ามาตรฐานและปัญหาที่ตามมาก็คือต้องทำหย่องให้เตี้ยมากเพื่อสามารถที่จะเล่นได้ไม่เจ็บนิ้วและเมื่อเริ่มเรียนไวโอลินไปถึงโพซิชั่นที่สามไวโอลินตัวนั้นก็อยู่ในระดับที่เล่นได้ยากแล้วต้องเปลี่ยนไวโอลินใหม่
ต้องลองสังเกตุด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าร้านนั้น ๆ รู้เรื่องของที่ขายด้วยพอสมควรไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลยนอกจากราคาขายหรือได้แต่ยืนยันว่าของเขาดีแต่ไม่รู้ว่าดียังไงแนะนำอะไรก็ไม่ได้ ร้านที่ขายสามารถให้บริการหลังการขายได้ในระดับหนึ่งด้วยเพราะเราอาจต้องการปรับแต่งซาวด์โพสท์หรือทำหย่องใหม่ ในสองสามเดือนแรกที่ใช้เขาจะได้ทำให้ได้เพราะการปรับแต่งบางอย่างก็ไม่ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่ม
ทำไมควรจะเริ่มเรียนด้วยการใช้ไวโอลินที่มีมาตรฐานหน่อยตั้งแต่ต้น
เหตุผลมีหลายอย่าง
1. ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจเรียนไวโอลินนั้นควรเป็นการตัดสินใจที่มีความพร้อมและความมุ่งมั่นตามสมควร เพราะอย่างน้อยที่สุดต้องสามารถจัดสรรเวลาว่างได้
2. ต้องมีงบในการซื้ออุปกรณ์ที่มีการทำเซ็ทอัพที่ได้มาตรฐานพอสมควรตั้งแต่ในช่วงแรกไม่เช่นนั้นก็อาจนำไปสู่การเรียนที่พัฒนาได้ยาก
3. ไม่เสียกำลังใจจนกระทั่งต้องเลิกเรียนและสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดก็คือการเข็ดขยาดการเรียนดนตรีไปจนตลอดชีวิต
4. ปัญหาที่นักเรียนพบ และยากจะอธิบายให้ผู้ปกครองฟัง เพราะจะถูกแย้งว่า "ไม่รู้จะชอบจริงหรือเปล่า ใช้ของถูกๆ ไปก่อนแล้วเปลี่ยนทีหลัง" "ของที่ใช้อยู่ก็เป็นไวโอลินมีสี่สายคันชักพร้อมทำไมเล่นไม่ได้" เหตุผลแบบนี้ทำนักเรียนตอบไม่ได้ และทำให้เรียนแล้วล่มมามากแล้ว เพราะสาเหตุที่แท้จริงคือ เสียงไม่เอาไหนเลย ด้านๆ แบนๆ ใครก็ไม่อยากฟังเสียงแบบนั้น คอใหญ่แบนเต็มมือเหมือนขาโต๊ะ ฟิงเกอร์บอร์ดเตี้ยมากทำให้เล่นแล้วปวดไหล่ กดนิ้วแล้วเจ็บเพราะหย่องสูง หรือ ท๊อปนัทสูง ผลที่ตามมาคือ ไม่อยากซ้อม เพราะใครจะซ้อมล่ะเจ็บตัวทุกที ไม่นานก็พาลเลิกตามที่ผู้ปกครองคาดเดาไว้จริง ๆ ซะเลย
5. อย่าเข้าใจผิดว่าร้านที่ขายไวโอลินในไทยทุกร้าน รู้ของที่ตนขาย แนะนำได้ ไม่จริงหรอก บางร้านเอาของเกรดตั้งโชว์มาขายแถมยืนยันว่า ปรับแต่งมาแล้ว พร้อมใช้งาน เอาไปเรียนได้เลย บางร้านก็ขายเพราะขายมานานแล้ว ฯลฯ
6. นักเรียนเองไม่รู้ว่าลักษณะไวโอลินที่เหมาะเป็นเช่นไร นักเรียนจำนวนมากใช้ไวโอลินต่ำกว่ามาตรฐานโดยไม่รู้ตัว กดแล้วเจ็บนิ้วแต่ไปคิดว่า อ้อ มันคงเป็นลักษณะของไวโอลิน เขาบอกว่ามันเล่นยากก็คงเป็นแบบนี้นี่เอง ผลสุดท้ายคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ เลย ล่ม..............
“ไวโอลินและคันชักถ้าเกรดต่ำกว่ามาตรฐานมักจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีไม่ได้ เสียงก็แย่ เล่นยาก เรียนยาก นักเรียนซ้อมในระดับใช้ได้แต่พัฒนาช้า นักเรียนก็ท้อ ครูก็หนักใจ”
ทำไมไวโอลินบางตัวถึงแพงกว่าบางตัว - ข้อสงสัยเมื่อหาซื้อไวโอลินตัวแรก

ไวโอลินเสียงดีไม่ได้แปลว่าแพง ไวโอลินที่มีประสิทธิภาพดีต่างหากที่แพง
ราคาไม่เกี่ยวกับเสียงสักนิดไวโอลินที่ผลิตมาดีส่วนใหญ่มักจะพลอยเสียงดีไปด้วยแต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุดังนี้ด้วย
1. คุณภาพของเนื้อไม้
ไม้สปรู๊ซ
ไม้สปรู๊ซชั้นดีจะมีราคาแพง ลายของไม้จะแสดงถึงอัตราการเจริญเติบโตของไม้ในแต่ฤดูกาล เช่นรอยสีดำในไม้แสดงถึงการเติบโตในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวส่วนลายไม้ที่มีสีอ่อนกว่านั้นแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนส่วนช่วงห่างระหว่างลายเนื้อไม้ หรือที่เราเรียกว่า“วงปี” จะบอกถึงอัตราการโตยกตัวอย่างเช่นไม้ที่โตช้าจะมีลายไม้แน่นบ่งบอกถึงการมีความแข็งแกร่งของเนื้อไม้มากกว่าไวโอลินที่ใช้ไม้แผ่นหน้าอย่างนี้ก็จะมีราคาแพง
ไม้เมเปิ้ล
ไม้เมเปิ้ลเป็นไม้ที่มีลายสวยงามมากขึ้นเมื่อถูกทาทับด้วยวานิช ไม้ที่มีลายไม้ไม่ห่างลายมีความถี่ห่างต่อเนื่องเท่า ๆ กันก็จัดเป็นไม้มีคุณภาพสูงเนื่องจากลายไม้แสดงถึงการเจริญที่มีความสม่ำเสมอ
การคัดเลือกไม้
ไม้ที่มีคุณภาพสูงจากยุโรป มีความหนาแน่นดี ลายสวยงามเก็บบ่มมานานจนความชื้นเหลืออยู่น้อยอาจต้องใช้เวลาผึ่งลมในโรงเก็บนานถึงสิบปีก็มีจะได้รับการทดสอบอีกครั้งก่อนนำมาทำไวโอลินคุณภาพสูง ส่วนไวโอลินคุณภาพรอง ๆนั้นขั้นตอนการคัดเลือกไม้ก็จะลดความเข้มงวดลงไปด้วยส่วนไม้ที่ผ่านกรรมวิธีทำให้แห้งโดยการใช้เตาอบความร้อนนั้นไม่จัดเป็นไม้คุณภาพดีเนื่องจากกรรมวิธีเร่งรัดเช่นนี้มีผลต่อคุณภาพของเนื้อไม้และส่งผลต่อเสียงของไวโอลินด้วย
2. ฝีมือช่างและประสพการณ์
รูปลักษณ์ความงามของไวโอลินบางตัวบวกกับความสามารถและประสบการณ์ในระดับสูงมีเอกลักษณ์ของช่างที่มีชื่อเสียงนั้นทำให้ราคาของไวโอลินพลอยพุ่งสูงไปด้วยช่างบางคนต้องให้ลูกค้ารอกว่าสอง สามปีทีเดียว กว่าจะได้รับไวโอลินที่สั่งทำเอาไว้ส่วนนี้เองที่เป็นส่วนที่ไวโอลินที่ผลิตขึ้นในระบบโรงงานไม่มีฉะนั้นไวโอลินโรงงานเกรดดีก็จะเหมาะกับการใช้งานในระดับฝึกหัดเท่านั้น
ไวโอลินเกรดแฮนด์เมด หนึ่งตัว ถ้าใช้ช่างหนึ่งคนทำ โดยทำงานวันละ 7 ชั่วโมง จะเสร็จใน 23 วันโดยเฉลี่ยและต้องใช้เวลาลงวานิชและรอให้แห้งอีกสองอาทิตย์ถ้าเป็นแบบสปิริต วานช แต่ถ้าเป็นออยล์วานิช ก็ต้องรออย่างต่ำสามเดือนกว่าวานิชจะแห้ง
เมื่อเอาเวลาไปเทียบกับไวโอลินเกรดโรงงานที่ใช้เครื่องจักรทำ ก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเครื่องทำเร็วแค่ไหนเพราะไม่ทราบ ทราบแต่ว่าโรงงานขนาดกลาง ๆ สามารถผลิตไวโอลินโดยใช้เครื่องจักรได้ประมาณ 2000 ตัวก็มี ลองนึกถึงโรงงานใหญ่ ๆ ดูก็คงมากกว่าสองสามเท่า
3. ชนิดและคุณภาพของวานิช
ชนิดที่เป็นวานิชสังเคราะห์ โพลี ยูรีเทน วานิชชนิดนี้ใช้แพร่หลายในกลุ่มผู้ผลิตไวโอลินโรงงานราคาถูกด้อยคุณภาพด้วยสาเหตุทำให้พื้นผิวแข็งทนรอยขูดขีดได้ดีมีความทนทานมาก
สปิริตวานิช และ ออลย์วานิช มักใช้กับไวโอลินระดับมาตรฐานขึ้นไปแบบสปิริตเป็นแบบที่ทาง่ายแห้งเร็วทิ้งไว้สักชั่วโมงหรือน้อยกว่าก็ทาอีกชั้นทับได้แล้วเมื่อทาผิดแก้งานได้ยาก ส่วนแบบออลย์เป็นแบบที่ทาให้สวยได้ยากแห้งช้าบางครั้งใช้เวลากว่าห้าเดือนถึงจะแห้งสนิทเมื่อทาผิดมีเวลาแก้งานได้ง่ายกว่าคุณภาพและราคาของวานิชทั้งสองชนิดก็มีแตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนผสมด้วยวานิชทั้งสองชนิดนี้ทำให้แผ่นหน้าและแผ่นหลังของไวโอลิน “ขยับตัวได้สะดวก” มีการตอบสนองต่อคลื่นเสียงได้ดี
4. การทำเซ็ทอัพ
การทำเซ็ทอัพมีความสำคัญที่ผู้ฝึกหัดระดับต้นมักไม่ค่อยทราบและไม่ค่อยเห็นความสำคัญที่ว่า ความจริงแล้วเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อประสิทธิภาพของไวโอลินทุกตัวไม่ว่าจะผลิตมาจากที่ใดในระดับไหนก็ตามย่อมหนีเรื่องนี้ไม่พ้น ไวโอลินส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อจากผู้ขายไวโอลินมืออาชีพ (Professional violin dealer) จะต้องนำมาทำเซ็ทอัพแทบทั้งสิ้น สาเหตุเป็นไปได้เช่นร้านที่เป็นร้านขายเครื่องดนตรีทั่ว ๆ ไม่มีความรู้หรือไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนต่าง ๆ ของไวโอลินที่ซื้อมาใหม่ส่วนใหญ่ที่ต้องมีการปรับแต่งเพิ่มเติมยกตัวอย่างเช่น
หย่อง สูงไป เตี้ยไป หนาไป อยู่ผิดที่หรือผิดรูปร่างสายบาดลงไปในหย่องเพราะใช้สายเหล็ก
ซาวด์โพสท์ – สั้นไป ยาวไปอยู่ผิดต่ำแหน่งความยาวสาย ไม่ถูกต้อง (ความยาวสายจากหย่องถึงหางปลาฯลฯ)
ลูกบิด ขนาดของลูกบิดไม่พอดีกับรูลูกบิด (ทั้งด้านหัวและด้านท้าย)ทำให้ตั้งเสียงไม่อยู่เพราะลูกบิดคลายฟิงเกอร์บอร์ด มีผิวไม่เรียบมีความโค้งไม่ได้ระดับ
สาเหตุต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างนี้ล้วนเป็นตัวบั่นทอนการฝึกหัดโดยไม่รู้ตัวทำให้รู้สึกว่าตั้งใจเรียน ตั้งใจซ้อม แต่ทำไมก้าวหน้าช้า
มีไวโอลินเกรดนักเรียนยี่ห้อใดบ้างที่ไม่ต้องทำเซ็ทอัพเพราะทำมาดีแล้วเล่นได้เลย
คำถามนี้ตอบยากเพราะร้านบางแห่งนำเข้าไวโอลินมาจำหน่ายเองโดยตรง ซึ่งบางร้านในกลุ่มนี้ก็มีความสามารถที่จะทำเซ็ทอัพใหม่ด้วยตัวเองเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น หรือใช้งานได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ทำหย่องใหม่ เปลี่ยนและตั้งซาวด์โพสท์ใหม่ ปรับหรือเปลี่ยนลูกบิดและปรับรูลูกบิดใหม่ ปรับระยะความยาวสายแต่ละส่วนใหม่ เป็นต้น
คำถามจะตอบง่ายขึ้นหากถามว่า คิดว่ามีไวโอลินนักเรียนยี่ห้อใดบ้างที่ควรนำมาทำเซ็ทอัพ ก่อนนำไปใช้งาน เพราะอาจตอบได้ว่า ไวโอลินจากโรงงาน ที่เรามักเรียกกันว่า Factory violin หรือ Commercial grade violin ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ตาม 99% ควรทำเซ็ทอัพใหม่ เพราะผู้ผลิตเองเขาก็ไม่ได้ปิดบังหรือรับประกันในเรื่องเช่นนี้อยู่แล้ว เขาคาดหวังว่าร้านที่สั่งซื้อไปนั้นก็ทราบเช่นกัน และร้านจะไปจัดการต่อหรือเจ้าของจะนำไปให้ผู้รู้จัดการต่อเอง เขาเพียงแต่ใส่ส่วนจำเป็นต่าง ๆ มาให้ครบและให้มันอยู่ในลักษณะที่พอทดสอบการเล่นได้ในระดับจะตัดสินใจซื้อเท่านั้น
ยี่ห้อที่เคยพบว่าต้องนำมาปรับใหม่เพราะลูกค้าของเมโทรฯ นำมาให้ช่วยปรับแต่ง ส่วนใหญ่เป็นของจีนที่จำได้มีหลายยี่ห้อ เช่น เทียน จิน, จาค๊อปสัน, แซนเนอร์, ฟิทเนส, สกายล๊ากค์, จิน หยิน, จีเอ็มไอ, เพิร์ล ริเวอร์, ฮ๊อฟเนอร์ (ยี่ห้อจีนลอกเลียนแบบยี่ห้อเยอรมัน) และคงมีอีกหลายยี่ห้อที่ยังไม่เคยเห็น ไวโอลินนักเรียนบางยี่ห้อก็ทำมาดีมาก หรือดีพอใช้ เช่นยี่ห้อจากโรงงาน เทียน จิน และโรงงาน จิน หยิน เมื่อทำหย่องใหม่ให้ได้มาตรฐาน และปรับแต่งส่วนต่าง ๆ แล้วก็ดีขึ้นอย่างชัดเจนจนเจ้าของพอใจ และเมื่อนำไปเปลี่ยนสายเป็นแบบเพอร์ล่อนก็เสียงดีขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ส่วนยี่ห้อนอกนั้นก็ดีขึ้นมากน้อยตามโครงสร้างแต่เดิมของไวโอลินแต่ละตัว (ไวโอลินนักเรียนที่ผลิตแบบแฮนด์เมด หรือกึ่งแฮนด์เมด ส่วนใหญ่มักจะดีกว่าแบบผลิตโดยเครื่อง ซึ่งดูจากเนื้องานภายนอกก็เดาได้)
ส่วนใหญ่ที่ต้องปรับปรุงคือ ปรับแต่งลูกบิดและรูลูกบิด ทำหย่องใหม่ เปลี่ยนซาวด์โพสท์ หรือบางคนก็อยากเปลี่ยนหางปลาด้วยเพราะบางครั้งพบว่าหางปลาที่ติดมาสั้นไป หนาและหนัก กรุณาดูสองตัวอย่างด้านล่างจะเห็นชัดเจนว่ามีเหตุผลสมควรที่จะทำ
การปรับแต่งใหม่นั้น บางคนก็อาจไม่ให้ความสำคัญเพราะ ไม่ทราบเลย หรือทราบแต่ไม่อยากปรับปรุงเนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก หรืออาจคิดว่าไวโอลินนั้นราคาไม่ถึงหมื่นบาทอยู่แล้วอาจทำให้ดีขึ้นคงไม่ได้มากนัก (อาจไม่จริงเสมอไป) ขึ้นกับวิจารณญาณของเจ้าของเองว่าจะตัดสินใจอย่างไร ไวโอลินแบบนี้แม้ใช้เล่นได้ แต่ก็มีประสิทธิภาพด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเดิมสร้างมาไม่ค่อยดีอยู่แล้วก็แย่หนักลงไปอีก เดี๋ยวนี้ของดีมีมาก ปัจจุบันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โรงงานในจีนมีการควบคุมการผลิตให้ถูกต้องตามมาตรฐานกันเป็นจำนวนมาก ส่วนไวโอลินเกรดเวิรค์ช๊อปก็ทำส่งออกและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ส่วนในประเทศไทยมีผู้นำเข้าทั้งไวโอลินจีนคุณภาพมาตรฐานและไม่ถึงมาตรฐาน ซึ่งราคาขายของเกรดสูง มีคุณภาพดีในแต่ละร้านขึ้นอยู่กับต้นทุน คุณภาพ ซึ่งอาจสูงถึง 80,000 บาทสำหรับขนาด 4/4 และไวโอลินจีนที่ไม่ถึงมาตรฐาน ราคาขายของร้านบางแห่งอาจราคาเพียง 2,500 บาท ซึ่งไวโอลินราคานี้ถูกก็จริงแต่แทบจะนำไปใช้เรียนไม่ได้เลย เพราะจะพบปัญหาหลายอย่างเช่น ลูกบิดไม่ดีตั้งเสียงไม่อยู่ เสียงแต่ละสายขาดสมดุล การขุดไม้ภายในไม่มาตรฐานทำให้อับเสียง ขาดสมดุล หย่องใช้ไม้ไม่มีคุณภาพและตัดมาไม่ดี ซาวด์โพสท์ไม่ดี ฯลฯ การนำมาปรับใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินราคาที่ซื้อมาแน่นอน และทำแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขจุดบกพร่องบางอย่างได้
จำเป็นไหมที่ร้านใดจะรับประกันไวโอลินตลอดอายุการใช้งาน อะไรทำได้ อะไรไม่น่าทำได้
มีผู้สงสัยถามมาว่า เมโทร มิวสิก รูม รับประกันไวโอลินตลอดอายุการใช้งานเหมือนบางร้านหรือไม่ เลยเฉลียวใจว่าต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กับผู้ซื้อไวโอลินทั่ว ๆ ไปด้วย เพื่อให้ทราบไว้ในใจก่อนเลยว่า ร้านใดก็ตามที่บอกว่าสามารถรับประกันไวโอลินตลอดอายุการใช้งานนั้น อาจมีส่วนที่มุ่งไปในเชิงการค้ามากกว่า และผู้ซื้อเมื่อฟังแล้วก็ต้องชัดเจนว่ารับประกันอะไรบ้างอย่างไร โดยเฉพาะกับไวโอลินเกรดนักเรียนราคาไม่แพง หรือไวโอลินใหม่เกรดดี ๆ ราคาแพง โดยปกติร้านที่ขายไวโอลินเกรดมาตรฐานบางร้านที่มีช่างอยู่ให้บริการก็สามารถที่จะบอกรับประกันได้ว่าไวโอลินที่ซื้อจากร้านเขานั้น มีสัดส่วนถูกต้อง ทำการปรับแต่งเสียงมาแล้ว หย่องตัดได้มาตรฐาน
เมื่อมองให้ลึกลงไปกว่านี้เราจะพบว่าแม้จะบอกรับประกันในเรื่องดังกล่าว แต่ผู้ซื้อที่ไม่มีความรู้มาก่อนเลยก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าอะไรดีแล้วหรืออะไรยังไม่ดีพอ เหตุผลง่าย ๆ คือไวโอลินเป็นสินค้าประเภทที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Blind Item เพราะคนซื้อมือใหม่ที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องไวโอลินมาก่อนเลย และไม่ได้ทำการบ้านมาพอสมควร จะไม่สามารถบอกได้เลยว่าไวโอลินที่กำลังจะควักเงินจ่ายนั้น สัดส่วนได้มาตรฐาน และได้ผ่านการปรับแต่งมาพอสมควรแล้วหรือไม่ คุณภาพของ fittings ที่หมายถึง ลูกบิด หางปลา ที่รองคางเป็นอย่างไร คุณภาพของไม้และคุณภาพของวานิชดีพอใช้ได้หรือไม่ สายที่ติดมาด้วยคุณภาพแย่มากหรือพอทนไหว ฯลฯ พร้อมใช้งานแค่ไหน มีคุณภาพสมราคาหรือไม่ แม้นักเรียนหรือมือสมัครเล่นบางคนเล่นมาเป็นเวลานานพอควรแล้ว ก็อาจทราบไม่หมดว่าจะดูลักษณะภายนอกจุดใดบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะทดสอบเสียง ความโค้งของหย่อง ดูสีวานิช ดูลายไม้ว่าสวยหรือไม่ (ตามรสนิยมของตนเอง) และความรู้สึกเมื่อทดลองเล่นว่าเล่นง่ายหรือเล่นยาก (วิธีการสังเกตุด้วยตนเองสำหรับการเลือกซื้อไวโอลินเกรดนักเรียนก็พยายามอธิบายแบบง่าย ๆ ให้ทราบในหมวดนี้อยู่แล้วลองอ่านดูได้)แต่อย่างไรก็ตามร้านที่ขายไวโอลินดี เขาก็ไม่ต้องการหลอกลวงผู้ซื้ออยู่แล้ว เพราะเขาก็ต้องการรักษาชื่อเสียง เพื่อจะอยู่ในธุรกิจนี้ไปได้นาน ๆ ฉะนั้นร้านประเภทนี้เขาก็จะพยายามมอบความจริงใจให้ลูกค้า จะไม่รับประกันในสิ่งที่ทำไม่ได้ และไม่ขายไวโอลินเกรดไม่ดีด้วย
ร้านที่ขายไวโอลินนักเรียนบางร้านอาจรับประกันอะไร และไม่รับประกันอะไรบ้าง อะไรฟรีและอะไรไม่น่าจะฟรี
บางร้านอาจรับประกันสักหนึ่งปีเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และรักษาน้ำใจลูกค้าแต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ตลอดอายุการใช้งานเพราะไม่ค่อยสมเหตุผลนัก เนื่องจากมีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่ทำได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหรือค่าอุปกรณ์ บางร้านอาจไม่เรียกเก็บค่าบริการเลย แล้วแต่นโยบายร้าน ยกตัวอย่างเช่น การขยับซาวด์โพสท์เพื่อปรับแต่งเสียงใหม่
หย่องมีปัญหาพบว่าความโค้งไม่ได้มาตรฐาน ช่วงห่างของสายไม่เท่ากัน ฯลฯ ก็ปรับแต่งให้เพราะมันเป็นปัญหามาแต่เดิมที่ควรต้องปรับแต่งแก้ไขก่อนขาย เว้นแต่บางร้านเป็นร้านขายเครื่องดนตรีทั่วไป เขาก็จะทำอะไรให้ไม่ได้เพราะไม่ทราบวิธี หรือไม่มีคนทำเป็นในร้านหรือร้านเองก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าอะไรดีไม่ดี พอจะขายก็อ้อมแอ้มไว้ก่อนว่า ดี ดี ใช้ได้เลย เล่นได้เลย ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แบบนี้พบบ่อย
แท่งซาวด์โพสท์ล้ม เวลาเปลี่ยนสาย ฯลฯ หากพบว่าเป็นเพราะแท่งสั้นไปร้านที่รู้เรื่องเขาก็จะแก้ไขก่อนขายด้วย ไม่ใช่ไปตั้งจุดที่ตั้งได้แต่ผิดที่เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ฟิงเกอร์บอร์ดหลุดเพราะติดกาวมาไม่ดีแต่แรก แบบนี้พบน้อยมากเพราะไวโอลินถูก ๆ ไม่ได้ติดฟิงเกอร์บอร์ดด้วยกาวหนังแต่ติดโดยใช้กาวสังเคราะห์และไวโอลินที่ทำมาดีใช้ไปตั้งหลายสิบปีก็ไม่หลุดถ้าไม่เจอร้อนจัด หรือเย็นจัด
ลูกบิด บิดตั้งเสียงไม่อยู่เพราะหลวม ลื่น บิดยากไป หรือขนาดลูกบิดด้านหัวและท้ายไม่พอดีกับรูลูกบิดเรื่องนิดหน่อยแบบนี้ร้านดี ๆ เขาก็คงไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนซื้อ
ที่เรียกว่าเซ็ทอัพ ควรทำอะไรบ้าง
ถ้าจะทำให้ครบทุกอย่างก็ต้องตรวจสอบ และทำการแก้ไข โดยทั่วๆ ไปน่าจะมีรายการดังนี้
- ตรวจลูกบิด (Peg) และตำแหน่งรูร้อยสาย (String holes) ทดลองบิดว่าแน่นรับกับรูลูกบิด (Peg box)
- ตรวจว่าท๊อปนัท (Top nut) สูงไปหรือไม่ โดยเฉพาะด้านสาย เอและสาย อี
- ตรวจพื้นผิวระดับระนาบและความโค้งฟิงเกอร์บอร์ด (Fingerboard)
- ตรวจพื้นผิวคอไวโอลินว่ามีความไม่เรียบลื่นทำให้เกิดความรำคาญหรือไม่
- ตรวจว่าความยาวสายตั้งแต่ท๊อปนัท (Top nut) ถึงหย่อง (Bridge) จากหย่องถึงเทลพีซ (Tailpiece)
- ตรวจความโค้งของหย่อง (Bridge curve) ร่องพาดสาย (String groove)
- ตรวจตำแหน่งของหย่อง
- ตรวจความยาวรอยตัด ระนาบ และตำแหน่งของแท่งซาวด์โพสท์ (Soundpost)
- ตรวจความยาวน้ำหนักของเทลพีซ (Tailpiece) ว่าเหมาะแล้วหรือไม่ ฟายจูนเนอร์ (Fine tuner) สาย E หมุนง่ายหรือไม่
- ตรวจว่าแซดเดิ้ล (Saddle) เตี้ยหรือสูงไปหรือไม่
- ตรวจความยาวของเทลกัท (Tailgut) ว่าสั้นหรือยาวเกินไปหรือไม่
- ตรวจที่รองคาง (Chinrest) ว่าหนีบตัวไวโอลินเข้าไปมากไปหรือไม่ แผ่นรองที่เป็นไม้คอร์ค ยังดีหรือไม่
- ตรวจว่าเอนด์พิน (Endpin) หลวมหรือแน่นไปหรือไม่
- สุดท้ายตรวจสภาพโดยรวม ๆ อีกครั้ง ว่ามีอะไรต้องซ่อมเปลี่ยน ปรับปรุง อีกหรือไม่
การประเมินราคาไวโอลินเก่าเขาทำกันอย่างไร
ในบ้านเราแม้ไม่มีใครสามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้ประเมินราคาไวโอลินระดับมืออาชีพ” อยู่เลยก็ตามแต่เรื่องเช่นนี้ก็คงมีผู้อยากทราบว่าการประเมินราคาของเครืองดนตรีเช่น ไวโอลินเก่า (เน้นไปที่บางเกรด เช่น ระดับเวิร์คช๊อปขึ้นไปและไวโอลินโรงงานคงไม่ต้องใช้ขั้นตอนพวกนี้) เขามีมาตรฐานมีขั้นตอนในการประเมินกันอย่างไรส่วนมากแล้วมักจะมีขั้นตอนเป็นลำดับดังนี้
ผู้ทำการประเมินจะดูจากแผ่นหลังก่อนเพราะการสังเกตุเส้นกรอบของแผ่นหลังทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสพการสูงสามารถระบุได้ทันทีว่าเป็นไวโอลินในแบบของใคร (เช่น สตราดิวารี – กูร์อาร์เนอร์รี่ – อามาตี้ ฯลฯ) และใช้วิธีใดในการสร้างโครง (ใช้แบบโมลด์นอก หรือ โมลด์ใน ฯลฯ) จากนั้นก็จะเริ่มมองในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป เช่นอายุ สัญชาติ พิจารณาร่องรอยการใช้งาน ตำหนิ ริ้วรอยต่าง ๆ บนโครงสร้าง รวมถึงลักษณะของวานิช การลงวานิช ฯลฯ
เมื่อดูแผ่นหลังแล้วจึงพลิกไปดูไม้แผ่นหน้า หรือดูที่สโครล์ (scroll) เมื่อดูแล้วก็จะเริ่มตั้งหลักในใจไว้บางส่วนแล้วเช่นว่าไวโอลินตัวนี้ถูกสร้างในแบบของ เดล เจซู ฉะนั้น เอฟโฮลและสโครล์ก็ควรจะมีลักษณะของ เดล เจซู ด้วย
การขาดความสม่ำเสมอขาดความเชื่อมโยงของรูปแบบที่ได้จากการมองเห็นในช่วงนี้จะทำให้ผู้ประเมินต้องหันกลับไปมองภาพรวมอีกครั้งเพื่อจะได้ระบุส่วนที่ขาดความสม่ำเสมอนั้นออกมาให้ได้ว่าส่วนดังกล่าวถูกสับเปลี่ยนไป หรือเป็นเพราะเขาดูพลาดจุดใดไปจากการมองในช่วงแรก
หากไวโอลินตัวนั้น ๆ คาดว่าเป็นผลงานของช่างที่มีชื่อเสียงผู้ทำการประเมินจะต้องเขยิบมาอยู่ในจุดที่ต้องทำการระบุให้ได้แล้วว่าใครคือช่างคนนั้น ทำที่ไหน เมื่อใด คุณภาพอีกทั้งระดับของฝีมือในการผลิตของไวโอลินนั้นอยู่ในระดับเดียวกับที่พบได้ในไวโอลินตัวอื่น ๆของช่างคนที่คาดว่าใช่นี้เป็นผู้ทำหรือไม่เมื่อได้ความแล้วขั้นตอนการพิจารณาต่อจากนี้ไปก็จะเริ่มเข้มงวดมากขึ้นไปอีกโดยมุ่งไปยังตำหนิที่มีให้เห็นตามจุดต่าง ๆ ที่พบบนไวโอลินและยังรวมถึงร่องรอยแตกร้าวในจุดต่าง ๆที่สามารถเห็นได้ชัดหรือบางครั้งอาจมีการหลบจุดที่มีตำหนิต่าง ๆไว้ไม่ให้เห็นได้ชัดเจน (เช่นโดยใช้สีของวานิช ฯลฯ) ตรวจสอบร่องรอยการซ่อมวานิชและการเปลี่ยนชิ้นส่วนหลักต่าง ๆที่อาจมี
หลังจากที่มองด้วยสายตาจนพบความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าไวโอลินตัวที่ตรวจสอบอยู่เป็นของที่ทำขึ้นโดยช่างที่มีชื่อเสียงแน่แล้วการตีราคานั้นก็จะทำโดยการเทียบเคียงกับราคาขายของไวโอลินตัวอื่น ๆที่คล้ายกันที่ทำจากช่างคนเดียวกันนี้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถระบุตัวช่างได้แน่ชัดหรือยังคลุมเครืออยู่ไม่สามารถตัดสินลงไปได้ชัดเจนแต่เมื่อทำการตรวจแล้วสามารถเทียบสภาพ คุณภาพ ลักษณะฝีมือ ลักษณะวานิชได้จากไวโอลินอื่นที่มาจากแหล่งใกล้กันก็จะทำการตีมูลค่าได้แล้ว (โดยให้ใกล้เคียงกับไวโอลินตัวที่นำมาเทียบ เช่นไวโอลินที่มาจากเวิร์คช๊อปไม่ทราบชื่อ ในโวสจ์ รีเจียนของฝรั่งเศสเหมือนกันก็จะจัดอยู่ในกลุ่มราคาใกล้เคียงกัน ถ้ามีสภาพ ฯลฯคล้ายคลึงกัน เป็นต้น)
อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อข้องใจอยู่เสมอว่าการประเมินราคานั้นควรจะนำราคาตลาดที่สูงที่สุดที่เคยมี นำมาใช้เป็นเกณฑ์หรือไม่แล้วจึงค่อยทอนราคาลงตามสัดส่วนของคุณภาพ ความสมบูรณ์ และความต้องการในตลาดหรือจะใช้วิธีประเมินราคาเพียงครึ่งหนึ่งก่อนแล้วค่อยบวกราคาขึ้นไปตามสัดส่วนของเงื่อนไขดังกล่าวในความเป็นจริงไม่ว่าจะใช้วิธีใดผู้ประเมินราคาก็มักจะได้รับผลประโยชน์จากการประเมินราคานั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเสมอ
Mr. Stefan Hersh - Roosevelt University’s Chicago College of Performing Arts เคยยกตัวอย่างการประเมินราคาไวโอลินและคันชักโดยยกตัวอย่างเอาไว้ว่า
ไวโอลินของ J.B. Vuillaume เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้เนื่องจากดูง่ายและมีไวโอลินจากช่างคนนี้เหลืออยู่ในตลาดให้เห็นในจำนวนมากพอควรยังมีการซื้อขายกันอยู่ตลอด นอกจากนี้คันชักที่ทำโดย Eugene Sartory ก็เป็นตัวอย่างของคันชักที่จัดว่าสามารถประเมินราคาได้ง่ายด้วยเหตุผลเดียวกันข้อโต้เถียงกันส่วนใหญ่มักจะเกิดกับไวโอลินหรือคันชักจากช่างมีชื่อเสียงไวโอลินที่เหลืออยู่ก็หายาก มีจำนวนเหลืออยู่ในตลาดค่อนข้างน้อยจึงพลอยทำให้ยากต่อการประเมินราคาไปด้วย
บทความเรื่องการประเมินราคาไวโอลินนี้ถูกคัดลอกและแปลเฉพาะส่วนสำคัญมาจากหนังสือ String Magazine