หย่องไวโอลินที่ใช้งานได้ดีควรเป็นอย่างไร
อันดับแรกเวลาเรามองหย่องนั้นสิ่งที่เราเห็นเป็นอันดับแรกเลยคือ ฝีมือจากร่องรอยการตัด คุณภาพของเนื้อไม้ของหย่อง ความสูงและที่สุดคือความหนาบาง เมื่อทดลองเล่นก็จะพบอีกว่าความสูงมากเกินไปหรือไม่ (บางคนชอบแบบสูงเพราะคิดว่าช่วยให้เสียงดังขึ้น และทำ Pizzicato มือซ้ายได้สะดวกไม่ติดฟิงเกอร์บอร์ด ส่วนบางคนชอบแบบสูงมาตรฐานหรือเตี้ยลงอีกเพราะชอบเล่นแล้วไม่เจ็บนิ้ว ฯลฯ) และท้ายสุดความโค้งของหย่องเพราะถ้าไม่ถูกต้องจะใช้คันชักลำบาก สีสายหนึ่งไปโดนอีกสายหนึ่ง
การตัดแต่งหย่องสำหรับไวโอลินใหม่กับไวโอลินเก่าก็ไม่เหมือนกัน และการตัดแต่งหย่องไวโอลินระดับนักเรียนก็จะต่างกันกับระดับไวโอลินอาชีพ มีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงอีกมากมายเกินกว่าคนเล่นจะต้องไปทำความเข้าใจทั้งหมด ควรปล่อยเป็นหน้าที่ของคนทำที่เชื่อใจจะดีที่สุด เมื่อเสร็จและลองเล่นทดสอบแล้วค่อยบอกคนทำให้เขาปรับแต่งเพิ่มเติมหากสามารถจะปรับเพิ่มได้ หย่องจัดเป็นส่วนประกอบจำเป็นของไวโอลินที่ทำยากที่สุด
การมองดูหย่องจากมุมมองของคนเล่นที่ใช้เฉพาะ ไวโอลินใหม่ นั้นอาจมองได้ดังนี้
- ส่วนขอบโค้งของหย่องไม่ควรหนาเกินกว่า 1.2 มิลลิเมตร ถ้ามากเสียงจะอับด้าน
- ตีนหย่องต้องแนบสนิทกับแผ่นหน้า และควรหนาประมาณ 4 มม. เพื่อให้สเถียร
- ระนาบด้านหางปลา (tailpiece) ต้องตั้งฉาก 90 องศากับแผ่นหน้า
- ร่องพาดสาย (string grooves) ต้องไม่ลึกมากจนสายจมหายเข้าไปในเนื้อหย่องและถ้ามีแผ่นหนังบางใส (leather parchment) รองติดไว้สำหรับสาย E ก็จะยิ่งดีขึ้น แบบนี้มักจะใช้กับหย่องดี ๆ แพง ๆ เพราะหย่องไม้ดีอาจใช้ได้นานถึง 15 ปี
- ลักษณะผิวหย่องฝั่งฟิงเกอร์บอร์ด (fingerboard) ต้องเห็นเป็นปื้นสั้น ๆ มองเหมือนเป็นเกล็ด (flakes) ส่วนฝั่งหางปลาต้องเห็นเป็นปื้นยาว (stripes) ทั้งนี้ก็เพราะเสี้ยนไม้จะช่วยขืนแรงตึงสายไว้ส่วนหนึ่ง ช่วยให้หย่องตั้งอยู่กับที่ได้มั่นคงขึ้น ขอบไม่เอนหรืองอโค้งไปทางฟิงเกอร์บอร์ด หย่องที่ใช้ไม้คุณภาพไม่ดี ไม้ใหม่และอ่อนเกินไปมักจะเกิดการคดงอได้ง่าย
- ความโค้งถูกต้องไม่โค้งมากหรือน้อยจนเกินไป เพราะจะทำให้เล่นไม่สะดวก (แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของไวโอลินด้วยว่าต้องการแบบไหน)
- ความสูงของสายเหนือฟิงเกอร์บอร์ด หากสาย E สูงสัก 2.5-3.0 มม. และ สาย G สุงสัก 3.5-4.0 มม. ก็มักจะเป็นความสูงที่รับได้ของคนส่วนใหญ่
ใครทำหย่องดีกว่ากัน
เป็นคำถามที่ตอบยากเพราะคนเล่นมองได้เพียงบางอย่าง เช่น ตัดแล้วสวยหรือไม่สวย สูงหรือเตี้ย แต่ในความเป็นจริง คนตัดหย่องแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์และวิจารณญาณในการตัดหย่องต่าง ๆ กันออกไปในรายละเอียด บางครั้งต้องใช้ความสังเกตุจึงจะเห็น ไม่มีใครอยากให้หย่องของตัวเองไปเหมือนใคร หย่องที่ตัดมาเรียบร้อยก็มักจะดูสวยและมักจะใช้ได้ดีด้วยในเวลาเดียวกัน ส่วนเรื่องวิธีการและความเชื่อในการทำก็ต่าง ๆ กันไปแล้วแต่ครูและประสพการณ์ ทั้งนี้รวมถึงวิธีการเลือกเนื้อไม้ของหย่องก็มีความเชื่อต่าง ๆ กันไปอีกด้วย ฉะนั้นใครตัดหย่องสวยก็มักได้เปรียบ ส่วนในเรื่องของการใช้งานนั้นก็พิสูจน์กันลำบาก ยกตัวอย่างเช่น การทำหย่องสำหรับไวโอลินทั้งเก่าและใหม่เกรดสูง ๆ นั้น ถ้าจะให้ออกมาดีที่สุดคนทำอาจต้องทำหย่องมากถึงสามอัน เพื่อเลือกอันที่ดีที่สุดเพียงอันเดียว ท้ายสุดความพอใจ และการยอมรับของเจ้าของไวโอลินส่วนใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้ว่าคนทำหย่องคนไหนเป็นที่นิยมและยอมรับมากกว่ากัน